ซิมการ์ดทำงานอย่างไร ?

เคยสงสัยไหมว่า แผงวงจรเล็กๆบนซิมการ์ดทำงานยังไง ? ทำไมถึงระบุตัวตนระบุเบอร์ไปยังผู้รับได้ มีข้อมูลอะไรบรรจุอยู่ในซิมการ์ดบ้าง ? เชื่อว่ามีหลายคนสงสัยแต่ไม่รู้จะไปหาคำตอบได้ที่ไหน วันนี้ทีมงาน alottech รวบรวมข้อมูลมาให้ จะได้หายสงสัยกันสักที

ซิมการ์ด ( Sim card ) ย่อมาจาก ” Subscriber Identity Module ” ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ ” โมดูลเพื่อระบุตัวตน ” ซึ่งจะมีชิปหน่วยความจำขนาดเล็กที่ระบุข้อมูลผู้ใช้งานโทรศัพท์


ซิมการ์ด เกิดขึ้นครั้งแรกปี ค.ศ. 1991 โดยบริษัทสัญชาติเยอรมันผลิตซิมการ์ดเพื่อเป็นอุปกรณ์ระบุตัวตนผู้ใช้งานโทรศัพท์ให้กับบริษัทผลิตมือถือระบบ GSM ช่วงแรกซิมการ์ดมีขนาดใหญ่พอๆกับบัตรเครดิต แต่ได้มีการพัฒนาจนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เป็นมินิซิมการ์ด ไมโครซิม จนมาเป็นนาโนซิมและ eSIM ในปัจจุบัน

ซิมการ์ดแม้มีขนาดเล็กแต่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆที่เก็บข้อมูลเพื่อระบุตัวตน เป็นชิปไมโครโปรเซสเซอร์ที่มีซีพียูรวมถึงหน่วยประมวลผล ROM , RAM ข้อมูลที่บรรจุในซิมการ์ดนั้นหลักๆประกอบด้วยข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้

  1. หมายเลข IMSI ( International Mobile Subscriber Identity ) เป็นส่วนที่ระบุหมายเลขเพื่อยืนยันตัวบุคคลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ เป็นชุดตัวเลขที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อสื่อสารกันระหว่างผู้โทรและผู้รับสาย โดยชุดตัวเลขนี้จะประกอบไปด้วยข้อมูลชุดตัวเลขที่ระบุประเทศของผู้ให้บริการ ข้อมูลตัวเลขที่ระบุผู้ให้บริการเครือข่ายและข้อมูลที่ระบุหมายเลขโทรศัพท์
  2. ส่วนการจัดเก็บข้อมูล ในซิมการ์ดจะมีหน่วยความจำเพื่อบันทึกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ และ ข้อความ SMS ต่างๆ (เพราะมีหน่วยความจำเราจึงสามารถบันทึกข้อมูลต่างๆเหล่านี้ลงซิมการ์ดได้)
  3. ส่วน application บนซิม เป็น application พื้นฐานบนซิมสำหรับการทำงานพื้นฐานต่างๆ เช่น การระบุพิกัด การ Back up ข้อมูล และอื่นๆที่จำเป็นในการรองรับการทำงานของซิม

การทำงานของซิมการ์ด จะเกิดขึ้นเมื่อเปิดใช้งานและใส่ซิมการ์ดเข้าเครื่องมือถือ เมื่อคุณกดโทรออกหรือส่งข้อความ ส่งข้อมูลต่างๆ เครื่องอุปกรณ์จะได้รับ หมายเลข IMSI และจะส่ง หมายเลข IMSI ไปยังเครือข่ายที่ให้บริการเพื่อขอการเข้าถึง ทุกข้อมูลที่ถูกส่งไปจะถูกเข้ารหัสผ่าน KI ( Key Identity) หรือที่เรียกกันว่า ” กุญแจ 128-BIT ”

ซึ่งกุญแจสำหรับเข้ารหัสและถอดรหัสนี้ก็ถูกบรรจุในซิมการ์ดเช่นกัน เมื่อข้อมูลถูกส่งไปยังเครือข่ายและมีการตรวจสอบโดยส่งข้อมูลไปมาระหว่างเครือข่ายกับซิมการ์ด หากข้อมูลถูกต้องและตรงกันก็จะได้รับสิทธ์เข้าถึงและเชื่อมต่อกับหมายเลขที่เราต้องการติดต่อ

ด้วยรหัสและกุญแจเฉพาะที่มีอยู่ในซิมการ์ดทำให้การทำธุรกรรมหลายอย่างผ่านซิมการ์ดมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ทำให้เวลามิจฉาชีพต้องการโกง แฮคข้อมูล หรือต้องการสิทธิ์เข้าถึงบัญชีต่างๆของคุณพวกเขาต้องหลอกเอา PIN ที่คุณได้รับจากข้อความในมือถือให้ได้ ทั้งนี้เพราะข้อมูลทุกอย่างถูกเข้ารหัสและมีเพียงเจ้าของซิมที่อ่านข้อมูลได้

นั่นคือเหตุผลที่เราไม่ควรส่ง PIN ให้ผู้อื่นไม่ว่ากรณีใดๆก็ตามเพื่อป้องกันการขโมยรหัสเพื่อเข้าถึงบัญชีของเรา แนะนำว่าใครที่ยังไม่ได้เปิดใช้การยืนยันตัวตน 2 ชั้นผ่านโทรศัพท์ควรทำนะครับ

และนี่คือข้อมูลการทำงานของซิมการ์ดที่สรุปย่อให้เข้าใจง่าย หวังว่าคงเป้นประโยชน์กับทุกคน ในอนาคตมือถือต่างๆอาจไม่ต้องใช้ซิมการ์ด อาจมีการพัฒนาไปเป็น eSIMเต็มตัว หรือมีการใช้งานโครงข่ายดาวเทียมเพื่อให้มือถือเชื่อมต่อผ่านดาวเทียมโดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งพาเสาส่งสัญญาณ นั่นเป็นเรื่องเทคโนโลยีในอนาคตและก็เป็นน่าตื่นเต้นมากทีเดียว(ถ้าทำได้)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *