รู้ไว้ก่อนสายเกินแก้ 7 โรคร้ายแถมฟรี ภัยเงียบของสังคมก้มหน้า

ยุคนี้ต้องยอมรับว่ามือถือเป็นเหมือนอวัยวะที่ 33 เราพกมือถือติดตัวกันตลอดเวลา เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้คน มือถือเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกจังหวะของชีวิตไม่เว้นแต่ตอนกินข้าว หรือ ทำธุระส่วนตัว อาจเป็นไปได้ว่า “เราอาจจะจ้องมือถือกัน มากกว่าจ้องตากันอีก จับมือถือกัน มากกว่าจับมือกันซะอีก”

          มือถือได้เข้ามามีส่วนสร้างและเติมเต็มในความสัมพันธ์ แต่เช่นเดียวกันมือถือก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมระดับต่าง ๆ ลดลง มือถือได้ดึงความสนใจจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทุกคนต่างก้มหน้าก้มตาให้กับสิ่งนี้ จนทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง จนกลายเป็นปรากฎการณ์ “สังคมก้มหน้า”ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้การที่เราปล่อยให้มือถือมีบทบาทในชีวิตเรามากเกินไป จนไม่มีช่องว่างเว้นให้นั่งสูดอากาศหายใจ ไม่ได้ส่งผลแต่ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างเพียงอย่างเดียว แต่อาจยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจตามมา

พาไปรู้จัก 7 โรคร้ายแถมฟรี ภัยเงียบของสังคมก้มหน้า

1. โรค Text neck syndrome

            Text Neck Syndrome หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ กลายเป็นหนึ่งในโรคฮิตที่เกิดจาก การใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานมากเกินกว่าวันละ 10 ชั่วโมง รวมไปถึงการนั่งก้มหน้าติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายจะอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม อาการของโรค ได้แก่อาการปวดเรื้อรังบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก มีอาการชา ปวดร้าวจากคอไปยังมือ หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและมือได้ อาการผิดปกตินี้ อาจจะดีขึ้นชั่วคราวหลังจากผู้ป่วยรับประทานยา หรือทำกายภาพบำบัด แต่อาการจะกลับมาเป็นใหม่เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือในลักษณะเดิม ๆ อีก

2. โรคเส้นประสาทกดทับข้อมือ (Carpel Tunnel Syndrome)

          โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานข้อมือท่าเดิม ๆ ทำให้พังผืดบริเวณช่องเส้นเอ็นไปกดทับเส้นประสาท จึงทำให้มีอาการอักเสบ รู้สึกชาที่ปลายนิ้วมือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยิบจับของลำบาก กล้ามเนื้อฝ่ามือลีบ สาเหตุหลักเกิดจาก การกดมือถือบ่อย การเล่นคอมพิวเตอร์เวลานาน การขับรถนาน การใช้ข้อมือทำกิจกรรมเดิม ๆ เป็นเวลานาน

3. โรคโมโนโฟเบีย (Nomophobia)

            โรคนี้จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคจิตเวช เป็นโรคของคนที่เสพติดมือถือมาก จนกลัวการขาดมือถือ อาการของโรคจะเกิดความหวาดกลัวจากการขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร โดยพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคนี้ เช่น หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความมือถือตลอดเวลา ต้องวางมือถือไว้ใกล้ตัว ตื่นนอนปุ๊ปหยิบมือถือขึ้นมาดูเป็นอย่างแรก ไม่เคยปิดมือถือเลย และคุยกับคนผ่านมือถือมากกว่าคนรอบข้าง สำหรับการป้องกันนั้น จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือถือ เช่น กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน ไม่เล่นมือถือขณะทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ทานอาหาร ก่อนนอน และหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬา กิจกรรมผ่อนคลายทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด ก็จะช่วยลดอาการติดมือถือลงได้

4. โรควุ้นในตาเสื่อม (vitreous degeneration)

          การเล่นมือถือ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการปวดต่าง ๆ ตามกล้ามเนื้อ แต่ส่งผลต่ออวัยวะที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างดวงตา เนื่องจากการเพ่งมือถือนาน ๆ มือถือมีการปล่อยแสงสีฟ้า (Blue-light) ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการปวดตา กล้ามเนื้อในตาถูกใช้งานมากเกินไป เกิดอาการตาล้า ตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัดหรือภาพซ้อนได้ ซึ่งอาจส่งผลให้สุขภาพของสายตาเราเสียก่อนวัยที่ควรจะเป็น โดยโรคนี้มักพบเมื่ออายุ 40-50 ปี ก็จะเริ่มเสื่อม แต่ก็จะมีบางปัจจัย เช่น ภาวะสายตาสั้นมากตัวตะกอนวุ้นตาจะเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ ดังนั้น หากเล่นมือถือควรมีการสลับพักสายตาอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อผ่อนคลายพวงตา อีกทั้งบำรุงสายตาด้วยการกินผักผลไม้ตระกูลที่ให้วิตามินเอ และเบต้าแคโรทีนสูง

5. โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression Syndrome)

          เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเล่นเฟซบุ๊ก และมักใช้เฟซบุ๊กเป็นแหล่งระบายความรู้สึก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหงา เศร้า เบื่อ ๆ ก็จะยิ่งโพสต์ระบายความรู้สึก นอกจากนี้การที่ได้เห็นคนอื่น ๆ โพสต์หรืออัพเดทแต่เรื่องราวดี ๆ ของชีวิตตัวเอง ก็อาจทำให้เรากลับมาเปรียบเทียบว่าชีวิตของตนเองและผู้อื่น ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อ ต่ำใจในโชคชะตา รู้สึกนอยด์ จนกลายเป็นอาการซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว รู้แบบนี้แล้วก็พยายามลดละเลิกเล่นเฟซบุ๊กให้น้อยลง แล้วหันมาใส่ใจคนรอบตัวบ้างก็คงจะรู้สึกดีขึ้น

6. โรคละเมอแชต (Sleep texting)

          โรคนี้ฟังจากชื่ออาจจะดูแปลก ๆ แต่มีอยู่จริง เกิดจากการติดมือถือมากเกินเหตุ จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อข้อความแชทอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว แม้กระทั่งในเวลาหลับ เพียงได้ยินเสียงข้อความแชทเด้งเข้ามา ก็เกิดการละเมอขึ้นมาพิมพ์ตอบทันที โรคนี้อาจไม่อันตรายมาก แต่ถ้าในระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพ เพราะร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ การแก้ปัญหาโรคละเมอแชทจะต้องเริ่มแก้จากต้นเหตุ นั่นคือ การลดการเล่นมือถือให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนนอน แนะนำให้ออกห่างจากมือถืออย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนนอน พยายามตั้งมือถือไว้ให้ห่างจากตัว และปิดเสียงแจ้งเตือนไม่ให้รบกวนเวลานอนด้วย

7. โรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face)

          เป็นอีกหนึ่งโรคสุดฮิตของคนติดแชทที่มักพบได้บ่อย ๆ สำหรับโรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face) หรือโรคใบหน้าสมาร์ทโฟน สาเหตุก็มาจากการก้มหน้ามองแต่หน้าจอมือถือนานเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อในส่วนคอมีอาการเกร็งและยังเข้าเพิ่มแรงกดบริเวณแก้มได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อแก้มได้รับแรงกดเป็นเวลานานเข้าก็ทำให้เส้นใยอิลาสตินบนใบหน้าเกิดการยืดตัว จนแก้วในบริเวณกรามย้อยลง อีกทั้งกล้ามเนื้อในบริเวณมุมปากก็ยังจะตกมาทางคางอีกด้วย อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้ใบหน้าของเราผิดแปลกไปได้ สาว ๆ คนไหนที่ไม่อยากหน้าหย่อนคล้อยก่อนวัย ก็ต้องเล่นมือถือเบาๆลงนะ

          การใช้มือถือแท้จริงแล้ว มีทั้งคุณและโทษ เราจะสามารถไกลห่งจาก 7 โรคเหล่านี้ได้หากรู้จักใช้มือถืออย่างมีสติและรู้เท่าทันเทคโนโลยี ใช้แต่พอดีเท่าที่จำเป็น จำกัดเวลาในการใช้งาน พยายามหากิจกรรมอื่น ๆ ทดแทนในเวลาว่าง อาจจะฟังดูยาก แต่ถ้าหากเราตั้งใจทำจริง ๆ เชื่อว่าเราทุกคนสามารถทำได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.sanook.com/women/93227/

https://www.sanook.com/women/74141/

https://today.line.me/th/v2/article/J3Xj9x

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *